วันพุธที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2555


          
     สำนวนไทย

           สำนวนไทย คือถ้อยคําหรือข้อความที่กล่าวสืบต่อกันมาช้านานแล้ว มีความหมายไม่ตรงตามตัวหรือมีความหมายอื่นแฝงอยู่[1]หรืออาจกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า สำนวน คือถ้อยคำ กลุ่มคำ หรือความที่เรียบเรียงขึ้นในเชิงอุปมาอุปมัยโดยมีนัยแฝงเร้นซ่อนอยู้อย่างลึกซึ้ง แยบคาย เพื่อให้ผู้รับได้ไปตีความ ทำความเข้าใจด้วยตนเองอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งอาจแตกต่างไปความหมายเดิมหรืออาจคล้ายคลึงกับความหมายเดิมก็ได้ สันนิษฐานว่า สำนวนนั้นมีอยู่ในภาษาพูดก่อนที่จะมีภาษาเขียนเกิดขึ้นในสมัยสุโขทัย โดยเมื่อพิจารณาจากข้อความในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงแล้ว ก็พบว่ามีสำนวนไทยปรากฏเป็นหลักฐานอยู่ เช่น ไพร่ฟ้าหน้าใส หมายถึง ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุข

การแบ่งประเภท

การแบ่งตามมูลเหตุ

  • หมวดที่เกิดจากธรรมชาติ เช่น ตื่นแต่ไก่โห่ ปลากระดี่ได้น้ำ แมวไม่อยู่หนูร่าเริง ไก่แก่แม่ปลาช่อน
  • หมวดที่เกิดจากการกระทำ เช่น ไกลปืนเที่ยงสาวไส้ให้กากิน ชักใบให้เรือเสีย ปิดทองหลังพระ สี่เท้ายังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง
  • หมวดที่เกิดจากสภาพแวดแวดล้อม เช่น ตีวัวกระทบคราด ใกล้เกลือกินด่าง] ฆ่าควายอย่าเสียดายพริก
  • หมวดที่เกิดจากอุบัติเหตุ เช่น ตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้ น้ำเชี่ยวอย่าขวางเรือ
  • หมวดที่เกิดจากระเบียบแบบแผนประเพณีความเชื่อ เช่น กงเกวียนกำเกวียน คู่แล้วไม่แคล้วกัน ปลูกเรือนตามใจผู้อยู่
  • หมวดที่เกิดจากความประพฤติ เช่น หงิมหงิมหยิบชิ้นปลามัน ตักน้ำใส่กะโหลกชะโงกดูเงา คบคนดูหน้าซื้อผ้าดูเนื้อ ขี้เกียจสันหลังยาว


มีเสียงสัมผัส

  • คำสัมผัส เช่น คอขาดบาดตาย มั่งมีศรีสุข ทำมาค้าขาย
  • 6-7 คำสัมผัส เช่น ปากเป็นเอก เลขเป็นโท คดในข้องอในกระดูก แพ้เป็นพระชนะเป็นมาร ขิงก็ราข่าก็แรง
  • 8 - 9 คำสัมผัส เช่น ไก่งามเพราะขน คนงามเพราะแต่ง รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี ตักน้ำใส่กะโหลก ชะโงกดูเงา

ไม่มีเสียงสัมผัส

  • 2 คำเรียงกัน เช่น กัดฟัน ของร้อน ก่อหวอด
  • 3 คำเรียงกัน เช่น ไกลปืนเที่ยง ก้างขวางคอ ดาบสองคม
  • 4 คำเรียงกัน เช่น ใกล้เกลือกินด่าง ผักชีโรยหน้า เข้าด้ายเข้าเข็ม
  • 5 คำเรียงกัน เช่น ชักแม่น้ำทั้งห้า ลางเนื้อชอบลางยา ขว้างงูไม่พ้นคอ
  • 6 - 7 คำเรียงกัน เช่น ยกภูเขาออกจากอก วันพระไม่มีหนเดียว ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ
ตัวอย่างสำนวนไทย


กลิ้งครกขึ้นภูเขา
          สำนวนนี้ มักจะพูดกันว่า ”เข็นครกขึ้นภูเขา ”  กันส่วนมาก แต่แท้จริง ” ครก ” ต้องทำกริยา ” กลิ้ง ” ขึ้นไปจึงจะถูก กล่าวคำว่า ” เข็น ” แปลว่า เรื่องที่กำลังจะทำหรือจะทำให้สำเร็จบรรลุผลนั้น ยากลำบากแสนเข็ญมิใช่ของที่ทำได้ง่ายนักเปรียบได้กับ การกลิ้งครกขึ้นภูเขาไปสู่ยอดเขา

กลืนไม่เข้าคายไม่ออก
          แปลว่าหมดหนทางที่จะทำหรือไม่รู้จะทำอย่างไรดีหรือ เป็นการทำให้ตัดสินใจไม่ถูก เพราะจะไม่ทำลงไปก็ไม่ดี ทำลงไปก็ไม่ดีเป็นการยากที่จะตัดสินใจทำลงไปได้ง่าย เหมือนก้างปลาหรือเศษอาหารอะไรอย่างหนึ่ง เข้าไปติดอยู่กลางลำคอกลืนก็ไม่เข้าคายก็ไม่ออก.

กินปูนร้อนท้อง
          สำนวนนี้มาจากตุ๊กแก ว่ากันว่า ตุ๊กแกที่กินปูน (ปูนแดงที่กินกับหมากพลู )มักจะทำอาการกระวนกระวาย ส่งเสียงร้องแกร็กๆ เหมือนอาการร้อนท้องหรือปวดท้อง
จึงนำเอามาเปรียบกันคนที่ทำพิรุธหรือทำอะไรไว้ไม่อยากให้ใครรู้แต่เผอิญมีใครไปแคะได้ หรือเรียบเคียงเข้าหน่อยทั้ง ๆ ที่เขาไม่ได้เจตนาเจาะจงแต่ตัวเอง ก็แสดงอาการเป็นเชิงเดือดร้อนออกมาให้เขารู้ สำนวนนี้มักพูดกันว่า  “  ตุ๊กแกกินปูนร้อนท้อง  “.

กินน้ำเห็นปลิง
          แปลว่า สิ่งใดที่ต้องการ ถ้าสิ่งนั้นมีสิ่งที่น่ารังเกียจ หรือไม่บริสุทธิ์ก็ทำให้รังเกียจหรือตะขิดตะขวงใจไม่อยากได้เปรียบดังที่ว่าปลิงเป็นสัตว์น่ารังเกียจอยู่ในน้ำ เวลากินน้ำมองเห็นปลิงเข้าก็รู้สึกรังเกียจขยะแขยงไม่อยากกินสำนวนนี้มีนักเขียนเอามาเขียนเอามาตั้งเป็นชื่อหนังสือเล่มหนึ่ง.

เกลียดขี้ขี้ตาม เกลียดความความถึง
           สำนวนนี้  ไม่ทราบที่มาหรือมูลของสำนวนแน่ชัดแต่ก็เป็นที่รู้ ความหมายกันทั่วไปว่า หมายถึง การที่คนเราเกลียดสิ่งไหนแล้วมักจะได้สิ่งนั้นเปรียบได้กับชายที่เกลียด ผู้หญิงขี้บ่นจู้จี่แต่มักลงท้ายกลับไปได้ภรรยาขี้บ่นจู้จี่เข้าจนได้.

เกลียดตัวกินไข่ เกลียดปลาไหลกินน้ำแกง
          สำนวนนี้มีความหมายแตกต่างกับประโยค ” เกลียดขี้ขี้ตาม ” เพราะแปลความหมายไปในทางที่ว่าเกลียดตัวเขาแต่อยากได้ผลประโยชน์จากเขา หรือของ ๆ เขา  ตามความหมายเปรียบเทียบของสำนวนที่ว่าเช่นเกลียดปลาไหลในรูปร่างของมัน  แต่เมื่อเอามาแกงมีรสหอมก็ทำให้อดอยากกินแกงไม่ได้ถึงแม้จะไม่กินเนื้อปลาไหลเลยก็ตาม.

แกว่งเท้าหาเสี้ยน
          หมายถึงคนที่ชอบทำอะไรเป็นการสอดแทรกเข้าไปยุ่งกับเรื่องของผู้อื่นเข้า จนกระทั้งกลาย เป็นเรื่องกับตัวเองจนได้เสมอ เรียกว่าชอบสอดเข้าไปเกี่ยวสำนวนในปัจจุบันเปลี่ยนไปใช้เป็นว่า ” แกว่งปากหาเท้า ” เสียแล้ว เพื่อให้ความชัดเจนขึ้น.

ไก่กินข้าวเปลือ
          สำนวนคำพังเพยประโยคนี้ ถ้าพูดให้เต็มความก็ต้องพูดว่า ” ตราบใดที่ไก่ยังกินข้าวเปลือกอยู่ ตราบนั้นคนเราก็ยังอดกินสินบนไม่ได ” เข้าใจว่าเป็นคำพังเพยของจีน ๆ เอามาใช้เป็นภาษาของเขาก่อน แล้วไทยเราเอามาแปลเป็นภาษาไทยใช้กันอยู่มากในสมัยก่อน ๆ.

ใกล้เกลือกินด่าง
          หมายความว่า  สิ่งที่หาได้ง่ายหรืออยู่ใกล้ไม่เอา  กลับไปเอาสิ่งที่อยู่ไกลหรือหายากเปรียบได้ว่าเกลือหาง่ายกว่าด่าง  ความหมายอีกทางหนึ่งหมายถึงว่าอยู่ใกล้กับของดีแท้ ๆ  แต่ไม่ได้รับเพราะกลับไปคว้าเอาของที่ดี  หรือมีราคาด้อยกว่าคือด่างซึ่งมีรสกร่อยหรืออ่อนเค็มกว่าเกลือ

กลเม็ดเด็ดทราย
          ทีเด็ดหรือไม้เด็ด ที่มีความเหนือและแน่นอน ในชั้นเชิงหรือแต้มคูมากกว่า มีชั้นเชิงแพรวพรายหลายชั้น ที่ทำให้น่าตะลึงหรือน่าทึ่ง ข่มหรือสยบคู่ปรปักษ์ได้อย่างชะงัดกินลมกินแล้ง
          สำนวนนี้ มีความหมายที่ใกล้เคียงกับอีกสองคำคือ “สร้างวิมานกลาง (ใน) อากาศ” “ฝันลมๆ แล้งๆ” อีกสำนวนหนึ่งที่พอจะอุปมาไปได้กับสำนวนนี้คือคำว่า “ทอดหุ่ย” หมายความรวมๆ ว่าเป็นเรื่องเลื่อนลอย ไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน พอๆ กับไอระเหยที่ไม่มีอะไรให้จับต้องได้ มีแต่ความเป็นอากาศธาตุ มีสำนวนอีกสำนวนหนึ่งที่ใกล้กันทั้งอักษรและความหมายคือ “ตามลมตามแล้ง” ไม่มีจุดมุ่งหมายอะไร ปล่อยให้ไปตามลม หรือสุดแต่จะเป็นไป อาการเดินทอดน่องปล่อยเวลาให้ผ่านไปโดยไม่คิดอะไร เรียกว่า “เดินทอดน่อง” หรือ “ฆ่าเวลา” คือปล่อยเวลาให้ผ่านเลยไปโดยไร้ประโยชน์ ไม่ได้ทำประโยชน์ใดๆ ขึ้นมาเลย 


--------------------------------------**************************************--------------------------




ขี่ช้างจับตั๊กแตน
หมายความว่า  ลงทุนเสียมากมายเพื่อทำงานเล็ก ๆ เท่านั้น  เป็นทำนองว่าผลประโยชน์ที่ได้ไม่คุ้มกับที่ลงทุน  หรือทำให้เป็นการใหญ่โตเลย  หรือแปลความหมายสั้น ๆ ” ทำงานใหญ่เกินตัว ”

ขี่ช้างอย่าวางของ
เป็นสำนวนเปรียบเทียบเตือนใจว่าการที่มีลูกน้อง  หรือมีผู้น้อยอยู่ในความปกครอง  บังคับบัญชาของเรา  ก็อย่าประมาทละเลยเสีย  ต้องหมั่นกวดขันกำชับ  เปรียบได้กับคนขี่ช้าง ต้องคอยถือขอสับช้างบังคับช้างไว้อยู่ตลอดเวลา  ถ้าวางของหรือไม่ใช้ขอคอยสับไว้  ช้างก็อาจพาลเกเรไม่ทำงานได้.

ขี้ก้อนใหญ่ให้เด็กเห็น
สำนวนนี้หมายถึง  การทำอะไรที่เป็นเรื่องไม่ดี  เป็นเรื่องชั่วร้ายเลวทรามหรือการทุจริต  โดยไม่มีความละอายใจให้ผู้อื่นเห็น  โดยเฉพาะหมายถึงผู้ใหญ่ที่ทำให้ผู้น้อยเห็นอย่างชัดแจ้ง.

เข้าเมืองตาหลิ่ว  ต้องหลิ่วตาตาม
แปลตามประโยคสำนวนก็ว่า  เข้าเมืองตาบอดข้างเดียว  ถึงแม้ตาเราไม่บอด  ก็ต้องทำตาบอดข้างเดียวตามเขาไปด้วย  ( ตาหลิ่ว  ในที่นี้หมายถึงตาบอดข้างเดียวหรือคนตาเดียว  ไม่ใช่หมายถึงทำตาหลิ่ว  หรือหลิ่วตา )  หมายความว่า  ที่แห่งใดเขาประพฤติตามเขาไปด้วย  อย่าไปประพฤติขัดแย้งกับเขา.

ขว้างงูไม่พ้นคอ
หมายความว่า  มีภาระหรือมีเรื่องเดือดร้อน  ทั้งของตนเองและที่เกี่ยวข้องอยู่  แต่ไม่สามารถจะแก้ไขให้รอดพ้นไปได้.

ข้างนอกสุกใสข้างในเป็นโพรง
สำนวนนี่เปรียบเทียบได้สองทาง  ทางหนึ่งก็หมายถึงสิ่งที่แลดูภายนอกเป็นของดีหรือของแท้  แต่แท้จริงแล้วกลับไม่ใช่ของดี  หรือของแท้นัก  อีกทางหนึ่งก็เปรียบได้กับสตรีที่งามแต่รูป  แต่กิริยาและความประพฤติไม่ดี  หรืองามเหมือนรูป  ซึ่งตรงกันข้ามกับอีกสำนวนหนึ่งที่ว่า  ” ข้างนอกขรุขระ  ข้างในต๊ะติ๊งโหน่ง ”

ข้างนอกขรุขระข้างในต๊ะติ๊งโหน่ง
สำนวนตรงข้ามกับ  ” ข้างนอกสุกใส “  คือดูแต่ภายนอกไม่งาม  แต่แท้จริงกลับเป็นของแท้ของงาม สตรีที่มีรูปร่างขี้ริ้วไม่งดงาม แต่กิริยามารยาทเรียบร้อย จิตใจก็ดีงาม ตรงข้ามกับรูปร่าง.

ข้าวใหม่ปลามัน
คนในสมัยโบราณถือว่า ” ข้าวใหม่ปลามัน ” คือข้าวที่เก็บเกี่ยวในครึ่งปีหลัง  เป็นข้าวที่ดีกว่าข้าวเก่า  และปลาเป็นอาหารคู่กับข้าว  ” ปลามัน ” หมายถึงปลาในฟดุน้ำลดมีมันมาก  รับประทานอร่อย  จึงมาผูกเป็นสำนวนพังเพยเปรียบเทียบเช่น สามีภรรยาที่เพิ่งจะแต่งงานกันใหม่ ๆ ย่อมจะอยู่ในระหว่างกำลังเสพสุขสมรสมีรสชาติ.

เขียนด้วยมือลบด้วยเท้า
สำนวนนี้  เวลาพูดมักจะใช้คำตรง ๆ ว่า ” เขียนด้วยมือลบด้วยตีน ” เป็นความเปรียบเปรยถึง  คนที่แต่แรกทำความดีจนเป็นที่เชื่อถือไว้แล้ว แต่ภายหลัง กลับทำความชั่วลบล้างความดีของตนเสียง่าย ๆ หรือเปรียบอีกทางหนึ่งถึงคนที่ออกคำสั่ง หรือให้สัญญาไว้แต่แรกอย่างหนึ่ง แล้วปุบปับกลับเปลี่ยนแปลงคำสั่งหรือสัญญานั้นเสีย ให้อยู่ในลักษณะตรงข้ามโดยไม่มีเหตุผล.

เขียนเสือให้วัวกลัว
ตามธรรมชาติ เท่าที่รู้จักกันอยู่ว่า วัวเป็นสัตว์ที่กลัวเสืออยู่มาก แม้จะมีรูปร่างใหญ่โตกว่าเสือก็ตามแต่ และวัวมักจะเป็นเหยื่อเสือเสียส่วนมาก เขาจึงเอามาเป็นสำนวนพังเพยเปรียบเทียบถึง การที่ทำอะไรอย่างหนึ่งเพื่อให้เป็นการข่มขู่อีกฝ่ายหนึ่งไว้ก่อนให้กลัว เรียกว่า ” เขียนเสือให้วัวกลัว “.

ขมิ้นกับปูน
สำนวนนี้หมายถึง คนที่ไม่ลงลอยกัน หรือ รสนิยมเข้ากันไม่ได้ เมื่ออยู่ใกล้กัน ก็มักเป็นปากเสียงทะเลาะวิวาทกัน เปรียบดังขมิ้นกับปูนที่กินกับหมาก

--------------------------------------------***************************-----------------------------------




คนล้มอย่าข้าม ไม้ล้มจึงข้าม
     แปลว่า คนที่เคยมีอำนาจและวาสนามาก่อน แต่ต้องตกต่ำลงก็อย่าเพิ่งไปคิดดูถูกเหยียบย่ำเข้า เพราะเขาอาจกลับฟื้นฟูขึ้นอีกได้ ไม่เหมือนไม้ที่ไม่มีชีวิตวางทิ้งไว้จะข้ามจะเหยียบอย่างไรก็ได้.
คบคนพาลพาลพาไปหาผิด คบบัณฑิตบัณฑิตพาไปหาผล 
     สำนวนนี้ มีความหมายหรือคำบรรยายอยู่ในตัวแล้ว คือคบคนชั่ว คนชั่วก็ชักพาเราให้พลอยไปทำชั่วด้วย ถ้าคบคนดีมีความรู้ ก็ทำให้เราได้รับผลดีหรือได้รับความรู้ดีตามไปด้วย.
ความวัวไม่ทันหาย ความควายเข้ามาแทรก
     หมายความว่า มีเรื่องราวเดือดร้อนเกิดขึ้น ยังไม่ทันจะแก้ไขหรือจัดการให้สงบดี ก็เกิดมีเรื่องใหม่ซ้อนขึ้นมาอีก กลายเป็น ๒ เรื่องขึ้นในคราวเดียว.
ความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด
     สำนวนนี้ หมายถึงคนที่มีวิชาความรู้ดี หรือรู้สารพัดเกือบทุกอย่าง แต่ถึงคราวเกิดเรื่องขึ้นกับตัวเอง กลับจนปัญญาแก้ไข หรือความหมายอีกทางหนึ่งว่า มีความรู้อยู่มากมายแต่ใช้วิชาหากินไม่ถูกช่อง ทำให้ต้องตกอยู่ในฐานะยากจนอยู่เรื่อยมา สู้คนที่ไม่รู้หนังสือเลย แต่หากินจนร่ำรวยไม่ได้
โค่นกล้วยอย่าไว้หน่อ
     สำนวนนี้ มีประโยคต่อท้ายสัมผัสกันด้วยว่า ” ฆ่าพ่ออย่าไว้ลูก ” แต่เรามักพูดสั้น ๆ ว่า ” โค่นกล้วยอย่าไว้หน่อ ” หมายความว่าจะคิดกำจัดศัตรู ปราบพวกคนพาลให้หมดสิ้นทีเดียวแล้ว ก็ต้องปราบให้เรียบอย่าให้พรรคพวกของมันเหลือไว้เลยแม้แต่คนเดียว มิฉะนั้นพวกที่เหลือนี้จะกลับฟื้นฟูกำลังขึ้นมาเป็นศัตรูกับเราภายหน้าได้อีก ทำนองเดียวกับที่ว่า ถ้าเราจะขุดตอไม้ทิ้ง เราก็ต้องขุดทั้งรากทั้งโคนมันออกให้หมดอย่าให้เหลือไว้จนมันงอกขึ้นมาภายหลังได้อีก
คมในฝัก
     ลักษณะของผู้ฉลาด  แต่นิ่งเงียบ ไม่แสดงความฉลาดนั้นออกมาโดยไม่จำเป็น มีความรู้ความสามารถ แต่เมื่อยังไม่ถึงเวลาก็ไม่แสดงออกมาให้ปรากฏ
ความวัวไม่ทันหายความควายเข้ามาแทรก
     ความวุ่นวายเดือดร้อนอีกอย่างหนึ่งเกิดขึ้นมีไม่รู้จบสิ้นหรือผ่านพ้นไป ความวุ่นวาย เดือดร้อนอีกอย่างหนึ่งเกิดขึ้นมาอีก 
คางคกขึ้นวอ
     คนมีฐานะต่ำต้อย พอได้ดิบได้ดีก็มักแสดงกิริยา อวดดีจนลืมตัว
คลุมถุงชน
     การแต่งงานที่ผู้ใหญ่จัดให้โดยที่ผู้แต่งงานไม่เคยรู้จักกัน และไม่มีโอกาสเลือกคู่ครองเอง
คว้าน้ำเหลว
     การทำสิ่งใดด้วยความตั้งแล้วไม่สำเร็จ ไม่ได้ผลตามที่ต้องการ

---------------------------------------------***************************----------------------------------



ฆ่าควายอย่าเสียดายพริก
          สำนวนนี้หมายถึง การที่จะทำงานใหญ่ ๆ เพื่อประโยชน์ที่จะได้รับจำนวนมาก ๆ แล้ว ก็อย่าเสียดายเงินทองหรือค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต้องเสียที่เดียวนัก เปรียบเหมือนฆ่าควายทั้งตัวเพื่อจะปรุงอาหารมาก ๆ ก็อย่าเสียดายพริกที่จะต้องใช้แกงหรือผัด มิฉะนั้นอาหารจะเสียรสเพราะเนื้อควายกับพริกแกงไม่ได้สัดส่วนกัน
-ฆ่าช้างเอางา
          หมายความว่า ลงทุนลงแรงเพื่อทำลายของหรือสิ่งสำคัญใหญ่ ๆ โต ๆ เพียงเพื่อต้องการจะได้ของสำคัญชิ้นเล็ก ๆ เท่านั้น ไม่สมกับค่าของ ๆ ที่ถูกทำลายลงไป เช่นทำลายชีวิตคน เพื่อต้องการทรัพย์สิน หรือของมีค่าเล็กน้อยของคนผู้นั้นมาเป็นประโยชน์ของตน โดยไม่คิดว่าชีวิตของผู้นั้นมีค่ากว่าทรัพย์สินก้อนนั้น หรือเป็นการไม่สมควรเพราะผิดกฎหมายร้ายแรง เช่นนี้ก็เรียกว่า ” ฆ่าช้างเอางา ” ได้เช่นเดียวกัน

-------------------------------------------****************************-----------------------------------

งมเข็มในมหาสมุทร
          สำนวนนี้เปรียบเทียบ มหาสมุทรซึ่งเป็นสถานที่กว้างใหญ่ลึกลับ เมื่อเข็มเย็บผ้าเพียงเล่มเดียวที่ตกลงไปยังก้นมหาสมุทร จึงย่อมค้นหาไม่ใช่ของง่ายนัก หรือไม่อาจจะค้นหาได้ เปรียบได้กับการที่เราจะค้นหาอะไรสักอย่างหนึ่งที่อยู่ในวงกว้าง ๆ ไม่มีขอบเขต ย่อมสุดวิสัยที่เราจะค้นหาได้ง่าย

งงเป็นไก่ตาแตก
         สับสนจนทำอะไรไม่ถูก ไม่เข้าใจเรื่องที่เกิดขึ้น ตัวอย่าง”เขาถูกกล่าวหาอย่างรุนแรงว่าเป็นเหตุยุยงภรรยาคู่นั้นแตกแยกกัน ทั้งๆที่เขาไม่รู้เรื่องอะไรเลย เขาจึงงงเป็นไก่ตาแตก”
-งอมพระราม
          ทุกข์เต็มทน ตัวอย่าง “เขาเป็นครูอาสาที่ต้องไปทำงานสอนหนังสือเด็กชาวเขาในถิ่นถุรกันดารนานถึง10ปี ต้องทนทุกข์ยากอละอุปสรรคต่างๆ อย่างแสนสาหัสเรียกว่า งอมพระรามเลยทีเดียว”
งูกินหาง
          เกี่ยวกันเป็นวงจนหาที่สิ้นสุดไม่ได้ ตัวอย่าง “ฉันเบื่อการทวงหนังสือคืนแล้วหละ ทวงคนนี้บอกว่าอยู่ที่คนนั้น ทวงคนนั้นบอกว่าอยู่ที่คนโน้น ไม่สิ้นสุดราวกับงูกินหางเลยทีเดียว”
-งูๆปลาๆ
          มีความรู้เล็กๆน้อยๆ ไม่รู้จริง ตัวอย่าง “จะให้ไปทำงานกับฝรั่งได้อย่างไร ภาษาอังกฤษของฉันงูๆปลาๆ”
-เงาตามตัว
          ผู้ที่ไปไหนมาไหนด้วยกันตลอด หรือ ผลของการกระทำที่เกิดตามติดมาทันที ตัวอย่าง “ตั้งแต่คบกันเขาตามฉันทุกฝีก้าวราวกับเงาตามตัว ”
-งามแต่รูปจูบไม่หอม
         มีรูปร่างงาม แต่มีความประพฤติและกิริยามารยาทไม่ดี


-------------------------------------------****************************-----------------------------------





-จับปลาสองมือ          
          โลภมาก มักลาภหาย อยากได้หลายอย่างแต่ในที่สุดไม่ได้สักอย่างเดียว
-จับเสือมือเปล่า             
         แสวงหาผลประโยชน์โดยตัวเองไม่ต้องลงทุน
-จอดเรือไม่ดูท่า ขี่ม้าไม่ดูทาง
          หมายถึง การทำอะไรไม่พิจารณาให้รอบคอบเสียก่อน ซึ่งอาจจะเกิดการผิดพลาดหรือเสียหายได้ เปรียบได้กับการจอดเรือหรือขี่ม้า ถ้าไม่ตรวจดูท่าจอดให้แน่นอน หรือไม่ดูหนทางที่จะขี่ม้าไปว่าจะเหมาะหรือไม่ ผลเสียหายก็ย่อมเกิดขึ้นได้ สำนวนนี้บางทีก็พูดว่า ” จอดเรือให้ดูฝัง จะนั่งให้ดูพื้น ” ซึ่งมีความหมายในทางตักเตือนไว้ก่อน 
-จ้าวไม่มีศาล สมภารไม่มีวัด
           เป็นสำนวนเปรียบเปรยถึงคนที่เร่ร่อนไม่มีที่อยู่ประจำเป็นหลักแน่นอน
-โจรปล้น ๑๐  ครั้งไม่เท่าไฟไหม้ครั้งเดียว
          สำนวนนี้มีความหมายอธิบายอยู่ในตัวแล้ว ถึงแม้คนเราจะถูกโจรขึ้นปล้นบ้านสัก ๑๐  ครั้งหรือมากกว่านั้น  ก็ยังไม่ทำให้ข้าวของ  หรือทรัพย์สินบางอย่างภายในบ้านเราถึงขนาดหมดเกลี้ยงตัวเลยทีเดียวนัก  แต่ไฟไหม้ครั้งเดียว  เผาผลาญทั้งทรัพย์สิน  และที่อยู่เราวอดวายเป็นจุลไปหมด  โบราณจึงว่า  ” โจรหรือขโมยขึ้นบ้านสัก ๑๐ ครั้งไม่เท่าไฟไหม้ครั้งเดียว
-จับแพะชนแกะ
          หมายถึง  การทำอะไรที่ขาดความเรียบร้อยไม่เป็นกิจลักษณะ  คือเอาทางโน้นมาใช้ทางนี้ เอาทางนี้ไปแทนทางโน้น  สับสนวุ่นวายไปหมดหรือทำให้ไม่ประสานกันหรือไม่ต่อเนื่องกัน  เท่ากับเอาแพะมาชนกับแกะ เพราะแกะเป็นสัตว์ต่างพันธุ์หรือต่างชนิดกัน  และไม่เคยปรากฏว่าแพะกับแกะจะมีผู้เคยเอามาชนกันมาก่อน
-จับปูใส่กระด้ง
          โดยสัญชิาตญาณ  ปูมักไม่คอยจะอยู่นิ่งเมื่อจับไปวางตรงไหน  มันก็พยายามจะไต่ไปไต่มาเพื่อจะหาทางออก  หรือคิดหนีไปท่าเดียว  เปรียบได้กับคนหรือเด็กเล็ก ๆ ที่ซกซนอยู่ไม่นิ่ง  ถึงจะอยู่ในที่บังคับอย่างไรก็จะดิ้นหรือซนเรื่อยไป
จุดไต้ตำตอ
          สำนวนนี้ หมายถึงการพูดกล่าวขวัญหรือทำอะไรสักอย่าง  โดยผู้พูดหรือผู้ทำไม่รู้จักคนผู้นั้นครั้นพอรู้ความจริง  ผู้พูดหรือผู้ทำกลายเป็นคน  ” ห้าแต้ม “  ไปเลย  ถ้าเป็นการพูดกล่าวขวัญในทางร้ายหรือนินทาด่าคนผู้นั้นเข้า  ดีไม่ดีก็ต้องเคราะห์ร้ายเปรียบเหมือนจุดไต้ไปตำเข้ากับตอถึงไฟดับ  สำนวนนี้เข้าใจว่า  มาจากการจุดไต้ให้ไฟสว่างของคนสมัยโบราณ  ซึ่งใช้เป็นไฟฉายส่องทาง  แล้วเอาไต้ไฟไปชนเข้ากับต่อถึงดับ
-จมไม่ลง
          เคยรุ่งเรืองใหญ่โต เมื่อตกอับก็ยังทำตัวเหมือนเดิม ไม่ยอมปรับตัวให้เหมาะกับฐานะของตน ตัวอย่าง”สิ้นสามีแล้วภรรยาและลูกๆยังจมไม่ลง ทำตัวเหมือนเดิม ทั้งๆทีไม่มีรายได้อะไร ไม่ช้าคงล้มละลายแน่”
-จรกาหน้าหนู
         เข้าพวกกับใครไม่ได้
-จระเข้ขวางคลอง
         ทำตัวกีดขวางผู้อื่น จนก่อให้เกิดความรำคราญ
-จับดำถลำแดง
         มุ่งอย่างหนึ่งไปได้อีกอย่างหนึ่ง  ตัวอย่าง “ฉันอุตส่าห์เลือกอย่างดีแล้ว ทำไมจึงจับดำถลำแดงไปหยิบของมีตำหนิมาได้”

-------------------------------------------****************************-----------------------------------


-ชาติคางคกยางหัวไม่ตกไม่รู้สำนึก
          สำนวนนี้ หมายถึง  คนที่อวดดีหรือชอบกระทำนอกลู่นอกทางเมื่อมีคนทักท้วงก็ไม่เชื่อฟัง  ยังขืนกระทำ  จนเขาหมั่นไส้ปล่อยให้ลองทำเพื่อจะให้รู้สึกตัวบ้าง  เพราะเชื่อว่าการกระทำนั้น ๆ จะต้องได้รับอันตรายถึงเลือดตกหรือเจ็บปวดเข้าก็ได้  หรืออีกทางหนึ่งเปรียบเทียบได้กับเด็กที่ไม่เชื่อฟังผู้ใหญ่หรือผู้ปกครอง  เมื่อห้ามด้วยปากไม่เชื่อก็ต้องใช้ไม้เรียวเฆี่ยนทำให้เจ็บตัวเสียก่อนจึงจะรู้สึก
-ชนักติดหลัง
         ความชั่วหรือความผิดที่ยังติดตัวอยู่
-ชักซุงตามขวาง
        ทำอะไรที่ไม่ถูกวธีย่อมได้รับความลำบาก,ขัดขวางผู้มีอำนาจย่อมได้รับความเดือดร้อน
-ชักน้ำเข้าลึก ชักศึกเข้าบ้าน
         ชักนำศัตรูเข้าบ้าน
-ชักแม่น้ำทั้งห้า
         พูดจาหว่านล้อมยกยอบุญคุณเพื่อขอสิ่งที่ประสงค์
-ชักใย
         บงการอยู่เบื้องหลัง
-ชักหน้าไม่ถึงหลัง
         มีรายได้ไม่พอกับรายจ่าย
-ชั่วช่างชี ดีช่างสงฆ์
          ปล่อยไปตามเรื่องตามราว ไม่เอาเป็นธุระ
-ชั่วนาตาปี
        ตลอดปี
-ช้างตายทั้งตัว เอาใบบัวมาปิด
          ความชั่วหรือความผิดร้ายแรงที่คนรู้ทั่วกันแล้วจะปิดอย่างไรก็ไม่มิด
-ช้างสาร
          ผู้มีอำนาจ ในความว่าช้างสารชนกัน หญ้าแพรกก็แหลกลาญ
-ชายหาบหญิงคอน
         ช่วยกันทำมาหากินทั้งผัวทั้งเมีย
-ชิงสุกก่อนหาม
         ทำสิ่งที่ยังไม่สมควรแก่วัยหรือยังไม่ถึงเวลา(มัก หมายถึง การลักลอบได้เสียก่อนแต่งงาน)
-ชี้ตาไม่กระพริบ
         ดื้อมาก,สู้สายตาไม่ยอมแพ้

-------------------------------------------****************************-----------------------------------
  


ดีดลูกคิดรางแก้ว
     โบราณนำเครื่องมือในการคิดเลขของคนจีน คือลูกคิดมาเป็นเครื่องเปรียบเปรยถึงความคิดของคน ลูกคิดรางแก้วนั้นก็คือการคิดที่จะได้อย่างเดียว ซึ่งถือเป็นความคิดที่มุ่งจะได้ประโยชน์โดยไม่คำนึงถึงคุณธรรมใดๆ ทั้งสิ้น
-ดักลอบต้องหมั่นกู้ เป็นเจ้าชู้ต้องหมั่นเกี้ยว
     เมื่อเห็นคำพังเพยสำนวนนี้ก็ทายได้ว่า โบราณต้องการจำแนกให้เห็นความมานะพยายามของคนที่เมื่อประสงค์จะทำสิ่งใดก็ตาม โดยยกเอาเครื่องมือจับปลาที่เรียกว่า “ลอบ” มาเปรียบเทียบว่า การดักลอบ ถ้าไม่หมั่นกู้ ก็อาจจะไม่ได้ปลา เพราะจะมีคนมายกลอบปลาเอาไปเสียก่อน เพราะเห็นว่าไม่มีเจ้าของลอบสนใจ เฉกเช่นนักเลงเจ้าชู้ เมื่อประสงค์จะเกี้ยวสาวคนใดก็ต้องใช้ความพยายามในการที่จะไป “เทียวไล้เทียวขื่อ” ประเภท “ตื๊อเท่านั้นที่ครองโลกได้” เช้าเสนอหน้า เย็นเสนอหน้า รับรองว่าใจสาวเจ้าต้องมีวันอ่อน ส่วนเจ้าชู้คนนั้นจะรักจริงหวังแต่งหรือไม่นั้นเป็นไปแล้วแต่บุญกรรม
-ดอกพิกุลร่วง
     เรียกอาการที่นิ่งไม่พูดว่า กลัวดอกพิกุลจะร่วง
-ดาบสองคม
      มีทั้งคุณและโทษ, อาจดีอาจเสียก็ได้
-ดาวล้อมเดือน
     มีบริวารแวดล้อมมาก
-ดำดิน
     หลบหายไป, หายไปไหนไม่รู้ร่องรอย
-ดีดลูกคิด
     คำนวณผลได้ผลเสียหรือกำไรขาดทุนอย่างละเอียด
-ดูตาม้าตาเรือ
      พิจารณาให้รอบคอบ (มักใช้ในความปฏิเสธ) เช่น ไม่ดูตาม้าตาเรือ
-เด็กอมมือ
     ผู้ไม่รู้ประสีประสา
-เด็ดดอกไม่ไว้ขั้ว
     ตัดขาด, ตัดญาติขาดมิตรกันเด็ดขาด, มักใช้เข้าคู่กับเด็ดบัวไม่ไว้ใย ว่า เด็ดดอกไม่ไว้ขั้ว เด็ดบัวไม่ไว้ใย
-เด็ดดอกไม้ร่วมต้น
     เคยทำบุญกุศลร่วมกันมาแต่ชาติก่อน จึงมาอยู่ร่วมกันในชาตินี้, เก็บดอกไม้ร่วมต้นก็ว่า
- เด็ดปลีไม่มีใย
      ตัดขาด, ตัดญาติขาดมิตรกันเด็ดขาด, เด็ดบัวไม่ไว้ใย ก็ว่า

-------------------------------------------****************************-----------------------------------





ติเรือทั้งโกลน
เป็นสำนวนหมายความว่า ชิงติงานที่เขาเริ่มทำใหม่ ๆ เสียก่อน ยังไม่ทันได้เห็นผลงานของเขาหรือเรียกว่า มีปากก็ติพล่อย ๆ โดยไม่รู้ว่า ฝีมือเขาจะเป็นยังไง “โกลน” ในสำนวนนี้หมายถึง ซุง ทั้งต้นที่เขาเอามาเกลาหรือถากตั้งเป็นรูปขึ้นก่อนเพื่อจะต่อเป็นเรือขุด โกลนในชั้นแรกจึงดูไม่ค่อยเป็นรูปร่างดี ต่อเมื่อโกลนดีแล้ว จึงตบแต่งค่อยเป็นค่อยไปจนเป็นรูปเรือ

ตีงูให้กากิน
หมายถึง การลงทุนลงแรงทำอะไรขึ้นอย่างโดยไม่ได้เกิดประโยชน์ให้แก่ผู้อื่น เปรียบเหมือนตีงูซึ่งต้องใช้ความกล้าหรือกำลังเล่นงานงู แต่ครั้นพองูตายแล้วก็เอามาทำประโยชน์อะไรไม่ได้ ต้องทิ้งหรือปล่อยให้กามาจิกกินเอาตามสบาย กา หรือ อีกา ในสมัยก่อนได้เห็นกันมาก จึงมักจะเอามาผูกเป็นสำนวนพังเพยอยู่ด้วยเสมอ เช่น “กาหน้าดำ เขาจำหน้าได้”  “กาคาบพริก” หรือ “สาวไส้ให้กากิน” เป็นต้น

ตีวัวกระทบคราด
เป็นสำนวนหมายถึง การแสร้งทำหรือแสร้งพูด เพื่อให้กระทบกระเทือนไปถึงอีกฝ่ายหนึ่ง การเอาวัวกับคราดมาเปรียบ ก็เพราะคราดซึ่งใช้เป็นเครื่องมือกวาดลานฟางหรือหญ้าในนานั้นผูกเป็นคันยาวใช้วัวลากและคราดจะเป็นฝ่ายกระตุ้นให้วัวทำงานลากคราดไป ซึ่งผลงานคงจะอยู่ที่คราดเป็นตัวกวาด เมื่อคราดไม่ทำงานก็เลยใช้วิธีตีวัวให้ลากคราด เป็นทำนองว่า “ตีวัวกระทบคราด” วัวเลยกลายเป็นแพะรับบาปเพราะคราด ความหมายคล้ายกับว่า เราทำอะไรคนหนึ่งไม่ได้ เช่น โกรธเขาแต่กลับไปเล่นงานสัตว์เลี้ยงหรือคนใกล้ชิดของเขา เป็นการตอบแทน

ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ
สำนวนนี้ โบราณมักใช้พูดกันมาก หมายถึงการกระทำอะไรสักอย่างที่ไม่เหมาะสมหรือได้สมดุลกัน หรือใช้จ่ายทรัพย์ลงทุนไปในทางที่ไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย เช่นลงทุนเล็กน้อยเพื่อทำงานใหญ่ซึ่งต้องใช้เงินมาก ๆ ย่อมไม่อาจสำเร็จได้ง่าย ต้องสูญทุนไปเปล่า ๆ เปรียบเหมือนตำน้ำพริกเพียงครกเดียว เอาไปละลายในแม่น้ำกว้างใหญ่ เมื่อละลายไปก็จะสูญหายไปหมดสิ้นไปทำให้แม่น้ำเกิดอะไรผิดปกติขึ้น เสียน้ำพริกไปเปล่า ๆ

ต้นไม้ตายเพราะลูก
สำนวนนี้เอามาเปรียบได้กับ พ่อแม่ที่ต้องเสียเพราะลูก เช่นรักลูกมากจนยอมเสียสละชีวิต หรือทรัพย์สินเพื่อลูก ตามที่ว่า “ต้นไม้ตายเพราะลูก” ก็โดยที่ว่าต้นไม้บางชนิด เมื่อมีลูกหรือมีดอกผลมักจะตาย หรือโค่นเพราะคนมาเก็บ หรือเมื่อออกดอกผลแล้ว เหี่ยวเฉาตายไปเองก็มี

ตักน้ำใส่กะโหลก ชะโงกดูเงา
สำนวนนี้เป็นคำเปรียบเปรย หรือเป็นเชิงเตือนสติคนที่ไม่รู้จักที่ต่ำที่สูง หรือคนที่ทะเยอทะยานทำตนเสมอกับคนที่สูงกว่า ให้รู้จักยั้งคิดว่าฐานะของตนเองเป็นอย่างไรเสียก่อน จึงค่อยคิดทำเทียมหน้าเขา ความหมายทำนองเดียวกับที่ว่า  “ส่องกระจกดูเงาของตัวเองเสียก่อน” สำนวนนี้ ผู้หญิงสูงศักดิ์มักจะใช้เป็นคำเปรียบเปรยเย้ยหยันผู้ชายที่มีฐานะต่ำต้อยกว่า

เตี้ยอุ้มค่อม
เป็นสำนวนที่หมายถึง คนที่มีฐานะยากจนอยู่แล้ว ยังอุตส่าห์ไปช่วยคนที่ยากจนกว่าตนเข้าอีก เท่ากับ “เตี้ยอุ้มค่อม” คือ ยิ่งทำให้ตัวเองแย่ลงไปอีก หรือจะเปรียบได้อีกทางหนึ่งว่าคนที่ทำงานหรือทำอะไรเป็นภาระใหญ่มากมายเกินสติกำลังของตน ซึ่งไม่แน่ว่าจะทำไปได้ตลอดหรือไม่

ตัวเป็นขี้ข้า อย่าให้ผ้าเหม็นสาบ
สำนวนนี้เป็นสุภาษิตเก่าแก่ ที่สอนให้คนเราประพฤติชอบแต่ในทางที่ดีไม่ให้ประพฤติตนไปในทางเสื่อมเสีย แม้จะมีฐานะยากจน เป็นคนใช้หรือลูกจ้างเขาก็ตามแต่ ก็ต้องรักษาความดีความซื่อสัตย์ รวมทั้งความสะอาดกายไปในตัวด้วย อย่าปล่อยตัวเองให้ตกเป็นทาสของความชั่ว

ตัวตายดีกว่าชาติตาย
สำนวนนี้เป็นสำนวนปลุกใจที่สืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคนแล้ว มีความหมายไปในทางให้คนเรารักประเทศชาติหรือบ้านเมืองของตนเองให้มั่น เมื่อยามมีศัตรูมารุกรานบ้าเมืองก็พร้อมที่จะพลีชีวิตร่วมกันต่อสู้เพื่อป้องกันประเทศ โดยยอมให้ตนเองตายดีกว่าชาติหรือประเทศต้องถูกทำลายลง

-------------------------------------------****************************-----------------------------------




-ถี่ลอดตาช้าง ห่างลอดตาเล็น หมายถึง คนที่ทำอะไรดูเป็นว่ารอบคบถี่ถ้วนดี แต่ความจริงไม่รอบคอบปล่อยให้มีช่องว่างเกิดขึ้น

-ถ่อไม่ถึงน้ำ น้ำไม่ถึงถ่อ เป็นสำนวนหมายถึงการพูดหรือการกระทำอะไร ที่ไม่ปฏิบัติให้ถึงแก่นสำคัญของเรื่อง หรือทำไปครึ่ง ๆ กลาง ๆ หรือขาดตกบกพร่องในการปฏิบัติเช่นขาดเงิน หรือขาดกำลังสนับสนุน สิ่งนั้นก็ย่อมจะไม่สำเร็จ หรือประสบผลตามความต้องการ เมื่อเปรียบกับการถ่อเรือหรือถ่อแพโดยถ่อไม่ถึงน้ำ เพราะถ่อสั้นไป ก็ย่อมใช้งานอะไรไม่ได้

-ถลำร่องชักง่าย ถลำกายชักยากสำนวนนี้มีความหมายอธิบายอยู่แล้วในประโยคแรก ที่ว่าการพลาดถลำตกลงไปในร่องพื้น ยังพอชักเท้าขึ้นมาได้ แต่การถลำใจซึ่งหมายถึงการหลงเชื่อหรือหลงรักหนัก ๆ เข้า ย่อมถอนออกได้ยาก

-ถ่มน้ำลายรดฟ้าสำนวนนี้ใช้เป็นความหมายถึง คนที่คิดร้ายหรือดูหมิ่นบุคคลที่สูงกว่า คำว่า “ถ่มน้ำลาย” เป็นที่เข้าใจกันทั่วไปเกือบทุกชาติแล้วว่า คือการแสดงกิริยาดูถูกดูหมิ่น และมักใช้เป็นกิริยาแสดงออกให้อีกฝ่ายเห็นได้ชัด เรียก “ถ่ม” หรือ “ถุ่ย” แตกต่างกับลักษณะของการ “บ้วนน้ำลาย” เมื่อพูดว่า “ถ่มน้ำลายรดฟ้า”ก็หมายถึง ดูเหมือนบุคคลที่สูงกว่า การถ่มน้ำลายขึ้นไปที่สูงคือฟ้าน้ำลายนั้นก็ย่อมจะตกลงมาถูกหน้าตาของตนเองความหมายจึงอยู่ที่ว่า การดูหมิ่น หรือคิดร้ายต่อบุคคลที่สูงกว่าหรือที่เคารพทั่วไป มักจะกลับเป็นผลร้ายหรือภัยแก่ตนเองได้

-ถ่มน้ำลายแล้วกลับกลืนกินสำนวนนี้ต่างกับคำว่า  “ถ่มน้ำลายรดฟ้า” ถ่มน้ำลายในประโยคนี้ หมายถึง การที่พูดหรือลั่นวาจาออกไปแล้ว เป็นการตัดขาดว่าจะไม่เกี่ยวข้องกันอีก แต่แล้วก็กลับไปเกี่ยวข้องเข้าอีก เป็นทำนองกลับคำของตนเองที่ได้พูดไว้

-ถ่านไฟเก่า สำนวนนี้ มีความหมายโดยเฉพาะสำหรับชายหญิงที่เคยเป็นคู่รักหรือเคยมีสัมพันธ์กันมาก่อนแล้วเลิกร้างกันไป  หรือห่างไประยะหนึ่ง เมื่อกลับมาพบกันใหม่ ก็ทำท่าจะตกลงปลงใจคืนดีกันได้ง่าย เปรียบเหมือนถ่านไฟที่เคยติดแล้วมอดอยู่หรือถ่านดับไปแล้ว แต่พอได้เชื้อไฟใหม่ก็คุติดไฟลุกขึ้นมาได้เร็วกว่าถ่านที่ยังไม่เคยได้เชื้อไฟหลายเท่า

-ถวายหัว หมายถึง ยอมเสี่ยงชีวิตเพื่อชาติ, เอาชีวิตเป็นประกัน, ทำจนสุดความสามารถ, ยอมสู้ตาย

-ถอดเขี้ยวถอดเล็บ หมายถึง ละพยศ, ละความเก่งกาจ, เลิกแสดงฤทธิ์แสดงอำนาจอีกต่อไป

-ถอนต้นก่นราก, ถอนรากถอนโคน หมายถึง ทำลายให้ถึงต้นตอ, ทำลายให้สิ้นเสี้ยนหนาม


-------------------------------------------****************************-----------------------------------





เทศน์ตามเนื้อผ้า
     แปลว่า จะพูดหรือสั่งสอนใครก็พูดเรื่อยไปตามตำราหรือแบบแผน ไม่มีการดัดแปลงให้เข้ากับคนฟังหรือให้เหมาะสมกับกาลเทศะจึงย่อมจะมีผู้ฟังบางคนไม่เข้าใจก็ได้

ท้องยุ้งพุงกระสอบ
     สำนวนนี้เป็นคำพังเพยที่โบราณกล่าวขานถึงคนที่กินจุ “กินเหมือนยัดหมอน” เปรียบเหมือนคนที่กินไม่รู้จักอิ่ม ไม่รู้จักพอสำนวนอีกคำหนึ่งคือ “ชูชก” ซึ่งเป็นตัวละครเดินเรื่องสำคัญในพระเวสสันดรชาดก กล่าวว่า ชูชกนั้นกินอาหารอร่อยๆ ที่พระเจ้าสีพีเอามาให้จนถึงขั้นท้องแตกตาย

ทำคุณบูชาโทษ
     คำพังเพยสำนวนนี้มีเพิ่มมาอีกคำหนึ่งว่า “โปรดสัตว์ได้บาป” เป็นคำพูดง่ายๆ เตือนใจคนว่า การทำคุณกลับเป็นโทษ ทำดีแต่กลับเป็นร้าย การอย่างนี้ยังมีในโลก เพราะมนุษย์นั้นมีจิตสูงต่ำไม่เหมือนกัน และมักจะมองกันในมุมตรงกันข้ามเสมอ

ทาสในเรือนเบี้ย
     โบราณนำเรื่องราวของทาสมาสร้างเป็นคำพังเพยให้คนทั่วไปได้ทราบ และเอาไปเปรียบเทียบกับเรื่องราวของชีวิตได้ นั่นคือทาส ที่เรียกกันว่า ทาสในเรือนเบี้ย ซึ่งเป็นลูกของทาสที่นายเงินซื้อมา (อาจเรียกว่าทาสน้ำเงินก็ได้) ทาสพวกนี้จะถูกสั่งให้ทำงานโดยไม่มีสิทธิ์ปฏิเสธใดๆ ทั้งสิ้น ดังนั้นโบราณจึงเปรียบกับคนที่ต้องทำงานโดยไม่มีสิทธิ์โต้แย้งว่าเป็นเหมือนทาสในเรือนเบี้ย

ทอดสะพาน
     โบราณนำประเพณีบ้านที่อยู่ริมคลองจะต้องมีสะพานไว้สำหรับทอดรับแขกที่จะมาเยือนให้ข้ามคลองมา ถ้าไม่ใช้ก็จะชักสะพานเก็บไว้ ในคำพังเพยนี้โบราณต้องการให้พ่อแม่ได้เอาใจใส่ในความประพฤติของลูกสาวว่าจะมีทีท่าให้ท่าให้ทางกับผู้ชายหรือไม่ กิริยานั้นเรียกว่า “การทอดสะพาน” ผู้ชายเห็นก็จะเดินเข้ามาหาได้ง่ายๆ ซึ่งผิดลักษณะของกุลสตรี

ทางเตียนเวียนลงนรก ทางรกวนขึ้นสวรรค์
     โบราณนำเรื่องของหนทางเดินมาเปรียบเทียบเป็นคำพังเพยเตือนใจคนว่า ทางเตียนนั้นราบเรียบสะดวกสบายเดินง่ายเหมือนความชั่วนั้นทำได้ง่าย ส่วนทางที่รกรุงรัง มีทั้งอุปสรรคขวากหนามสารพัดานั้นก็เหมือนความดีที่จะทำได้ยาก ต้องใช้ทั้งความพยายาม ความอดทน จึงจะบรรลุถึงความดีและไปสู่ทางสวรรค์

ทองไม่รู้ร้อน
     โบราณนำเอา “ทองคำ” มาสร้างเป็นคำพังเพยเพื่อเตือนสติคนว่า ทองคำนั้นเมื่อนำไปหลอมละลาย ก็จะละลายกลายเป็นทองเหลว (น้ำทอง) โดยที่ทองคำเองก็ไม่ได้รู้ถึงความร้อนนั้น นำมาเปรียบเทียบกับคนที่เฉยเมย ไม่กระตือรือร้น ใช้ชีวิตไปวันๆ ไม่สะดุ้งสะเทือน ไม่รู้ร้อนรู้หนาวปล่อยตัวตามสบายเหมือนทองที่ไม่รู้จักความร้อน ทั้งๆ ที่ตัวเองถูกความร้อนหลอมละลายเป็นของเหลวไปแล้ว คนอย่างนี้โบราณไม่นิยมเชื่อถือ

-------------------------------------------****************************-----------------------------------





-น้ำขึ้นให้รีบตัก
     เป็นสำนวนสุภาษิตที่หมายถึงว่า เมื่อมีโอกาสหรือได้จังหวะ ในการทำมาหากินหรือช่องทางที่จะทำให้ได้ผลประโยชน์แก่ตนแล้ว ก็ควรจะรีบคว้าหรือรีบฉวยโอกาสอันดีนี้เสีย อย่าปล่อยโอกาสหรือจังหวะเวลาให้ผ่านพ้นไปอย่างน่าเสียดาย สำนวนนี้เอาไปเปรียบกับอีกสำนวนที่ว่า  “ช้า ๆ ได้พร้าเล่มงาม” แล้ว หากคุณไม่เข้าใจความหมายก็อาจจะทำให้พะวักพะวงใจอยู่บ้าง เพราะไม่รู้ว่าจะเชื่อสำนวนไหนดี อย่างไรก็ควรดูคำแปลความหมายของอีกสำนวนนั้นเสียก่อน

 -น้ำเชี่ยวขวางเรือ
     เป็นสำนวนที่หมายถึงการทำอะไรให้เป็นที่ขัดขวาง หรือเป็นที่ขัดต่ออารมณ์ของอีกฝ่ายหนึ่ง โดยไม่ดูเหตุการณ์เสียก่อน อาจทำให้ได้รับเคราะห์หรืออันตรายได้ เปรียบเทียบน้ำในแม่น้ำกำลังไหลเชี่ยวจัด ถ้าเราแจวเรือหรือพายเรือออกไปขวาง เรือก็อาจจะล่มได้ทันที

 -น้ำมาปลากินมด น้ำลดมดกินปลา
     หมายถึง โอกาสของใครหรือจังหวะดีของใคร ฝ่ายนั้นก็ย่อมชนะความหมายอย่างเดียวกับคำว่า “ทีใคร ทีมัน”

 -น้ำตาลใกล้มด
     เป็นสำนวนที่หมายโดยเฉพาะถึง ผู้หญิงกับผู้ชายที่อยู่ใกล้กัน เปรียบเหมือนน้ำตาลกับมดเช่นเดียวกับผู้หญิงอยู่ใกล้กับผู้ชาย ผู้ชายเราก็อดที่จะเข้ามาไต่ตอมหรือเลาะเล็มผู้หญิงไม่ได้ หรือบางทีก็อาจมีใจตรงกันขึ้นได้ทั้งคู่เมื่ออยู่ใกล้กัน

 -น้ำท่วมทุ่ง ผักบุ้งโหรงเหรง
     เป็นความหมายถึง คนที่พูดมาก แต่ถ้อยคำที่พูดนั้นได้เนื้อความน้อยหรือมีสาระเพียงนิดเดียว สำนวนนี้เรามักใช้พูดสั้น ๆ ว่า “น้ำท่วมทุ่ง” หรือ “พูดเป็นน้ำท่วมทุ่ง” เสียส่วนมาก แต่ก็เป็นความหมายชัดเจนอย่างว่าดี

 -น้ำนิ่งไหลลึก
     เป็นสำนวนที่หมายถึง คนที่ดูภายนอกสงบเสงี่ยมหรือเป็นคนหงิม ๆ ไม่ค่อยพูดจา แต่มักจะเป็นคนมีความคิดฉลาด หรือทำอะไรได้แคล่วคล่องว่องไว เปรียบเหมือนน้ำที่ดูตอนผิวหนังที่สงบนิ่ง แต่ลึกลงไปข้างใต้นั้นกลับไหลแรง

 -น้ำน้อยย่อมแพ้ไฟ
     เปรียบได้กับอะไร ๆ ที่น้อยกว่าย่อมแพ้แก่ฝ่ายที่มากกว่า เช่นน้ำน้อยก็ไม่พอจะดับไฟ หรือพวกที่มีกำลังน้อยกว่า ก็ย่อมแพ้พวกที่มีกำลังมากกว่า

 -น้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า
     หมายถึง คนเราต้องต่างพึ่งพากันและกันตลอดมา

 -น้ำร้อนปลาเป็น น้ำเย็นปลาตาย
     น้ำร้อนหมายถึงคนที่ปากร้ายแต่จิตใจไม่ร้ายย่อมไม่เป็นพิษภัย ส่วนน้ำเย็นหมายถึงคนปากหวานหลอกให้คนหลงเชื่อง่าย ๆ ย่อมมีอันตรายได้


-------------------------------------------****************************-----------------------------------




บนข้าวผี ตีข้าวพระ 
          บนบาน , ขอร้องให้ผีสางเทวดา หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วยเหลือโดยจะแก้บน เมื่อสำเร็จประสงค์แล้ว
-บนบานศาลกล่าว 
          ขอร้องให้สิ่งศักดิ์ช่วยเหลือ
-บอกเล่าเก้าสิบ 
          บอกกล่าวให้รู้
-บอกหนังสือสังฆราช, สอนหนังสือสังฆราช 
          สั่งสอนผู้มีความรู้ดีกว่าตน
-บัวไม่ช้ำ น้ำไม่ขุ่น, บัวไม่ให้ช้ำ น้ำไม่ให้ขุ่น 
          รู้จักผ่อนปรนเข้าหากัน มิให้กระทบกระเทือนใจกัน, รู้จักถนอมน้ำใจไม่ให้ขุ่นเคืองกัน
-บ้าหอบฟาง 
          บ้าสมบัติ เห็นอะไร ๆ เป็นของมีค่าจะเอาทั้งนั้น, อาการที่หอบหิ้วสิ่งของพะรุงพะรัง
-บ้าห้าร้อยจำพวก 
          บ้ามากมายหลายประเภท
-บานปลาย 
          ขยายออกไปมากกว่าที่ตั้งใจไว้เดิม, ขยายเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่โตออกไป, ใช้เงินเกินกว่าที่ประมาณหรือกำหนดไว้
-บ้านเคยอยู่ อู่เคยนอน 
          สถานที่ตนเคยอาศัยอยู่มาก่อน
-บ้านแตกสาแหรกขาด 
          เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครอบครัว หรือ ในบ้านเมืองอย่างร้ายแรงถึงทำให้ ต้องกระจัดกระจายพลัดพรากกัน
-บ้านนอกขอกนา, บ้านนอกคอกนา 
          ชาวไร่ชาวนาที่อยู่นอกกรุงหรือเมืองหลวง
-บ้านเมืองมีขื่อมีแป 
          บ้านเมืองหรือประเทศย่อมมีกฎหมายคุ้มครอง
-บุกป่าฝ่าดง 
          พยายามต่อสู้อุปสรรคต่าง ๆ



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น